เลือกน้ำมันเครื่องอย่างไรดี ตอนที่1

น้ำมันเครื่องที่วางจำหน่ายในท้องตลาด มีมากมายหลายยี่ห้อ ต่างระดับราคา เช่น 800 บาท 1,200 บาท 2,500 บาท การตัดสินใจว่า ราคาถูก ราคาเหมาะสม หรือราคาแพง ไม่สามารถดูได้จากราคาขาย ต้องพิจารณาคุณภาพเทียบกับราคา นอกจากนี้ยังต้องเลือกให้เหมาะสมกับประเภทของรถที่จะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย ปัญหาของผู้ใช้งานส่วนใหญ่ คือ ไม่ทราบว่าคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ดีเทียบกันอย่างไร และไม่ทราบว่ารถที่ใช้อยู่เหมาะสมกับน้ำมันเครื่องแบบใด 

บทความนี้จะแนะนำหลักการพิจารณาเทียบชั้นคุณภาพน้ำมันเครื่อง ให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายๆ เพื่อเลือกน้ำมันเครื่องให้เหมาะสมกับรถที่ใช้ และสามารถเปรียบเทียบน้ำมันเครื่องต่างยี่ห้อ ในมาตรฐานคุณภาพเดียวกัน เพื่อบอกได้ว่ายี่ห้อใดราคาถูกยี่ห้อใดราคาแพง ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสม ตรงตามความต้องการ และประหยัดงบประมาณ

การเลือกใช้น้ำมันเครื่องมีหลายองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา  

1. ประเภทของเครื่องยนต์ (เบนซิน/ดีเซล) 

2. ชั้นคุณภาพที่ต้องการ (มาตรฐานAPI)

3. ความหนืดที่ต้องการ (ความข้นใสของน้ำมันเครื่อง เกรดเดี่ยว/เกรดรวม)

4. น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน (น้ำมันแร่/น้ำมันกึ่งสังเคราะห์/น้ำมันสังเคราะห์100%)

5. ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่าย (5,000km./7,500km./10,000km./12,000km.)

ในบทความตอนแรกนี้จะขอกล่าวถึงเพียงองค์ประกอบที่ 1. 2. และ 5. ซึ่งพิจารณาได้ง่ายในเบื้องต้นก่อน

มาตรฐานที่ใช้แบ่งชั้นคุณภาพของน้ำมันเครื่องมีหลายมาตรฐาน แต่ที่นิยมใช้งานกันแพร่หลาย คือ มาตรฐาน API (American Petroleum Institute) ซึ่งแบ่งอย่างง่ายตามประเภทของเครื่องยนต์ น้ำมันสำหรับเครื่องยนต์เบนซินจะขึ้นต้นด้วยอักษร S (Station Service) น้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลจะขึ้นต้นด้วยอักษร C (Commercial Service) อักษรตัวที่สองที่ตามมาจะไล่คุณภาพตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ A, B, C, ... โดย A จะมีคุณภาพต่ำที่สุด B จะมีคุณภาพต่ำกว่า C เรื่อยขึ้นไป ...

น้ำมันสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน SA, SB, SC, ..., SL, SM, SN จึงมีคุณภาพสูงขึ้นตามลำดับ และ น้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล CA, CB, CD, ..., CF, CH-4, CI-4, CJ-4 ก็พิจารณาเช่นเดียวกัน ดังนั้น SN เป็นคุณภาพสูงสุดสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และ CJ-4 เป็นคุณภาพสูงสุดสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน ถึงตอนนี้เราก็สามารถเปรียบเทียบได้แล้วว่า น้ำมันเครื่องรุ่นใดมีชั้นคุณภาพสูงกว่า

เช่น SUN'SOIL SUNTECH R-1 API:SN ก็จะอยู่ในชั้นคุณภาพที่สูงกว่า SUN'SOIL TURBO SYN TECH API:SM เพราะ SN สูงกว่า SM แม้ว่าทั้งสองรุ่นจะใช้สำหรับรถเบนซินเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ SUN'SOIL SUNTECH R-1 API:SN จะมีราคาแพงกว่า SUN'SOIL TURBO SYN TECH API:SM

เทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาน้ำมันเครื่อง ช่วยให้น้ำมันเครื่องมีคุณภาพดีขึ้น น้ำมันเครื่องบางรุ่นใช้ได้กับทั้งเครื่องยนต์เบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล เช่น SUN'SOIL SUNTECH F-1 DIESEL API:CJ-4/SM ซึ่งระบุทั้งคุณภาพ CJ-4 และ SM อย่างนี้หมายถึง น้ำมันรุ่นนี้ผ่านมาตรฐานสูงสุด CJ-4 สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล และยังสามารถใช้กับรถเบนซินได้ด้วย โดยผ่านมาตรฐาน SM สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน

คำถามถัดมาที่พบบ่อย คือ ระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อไหร่จึงจะเหมาะสม ระยะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่แนะนำ สำหรับรถแต่ละคันจะระบุไว้ในคู่มือประจำรถ โดยทั่วไปจะเปลี่ยนถ่ายกันที่ระยะทางใช้งาน 5,000km. - 10,000km. ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้งาน สภาพการใช้งาน และชนิดของน้ำมันเครื่องด้วย

รถที่จอดทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน และรถที่ใช้งานน้อย วิ่งระยะสั้นๆ ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่ใช้งาน แม้ว่าระยะทางที่วิ่งจะยังไม่ครบกำหนด เนื่องจากน้ำมันเครื่องที่ค้างอยู่ในเครื่องยนต์ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีการเสื่อมสภาพ จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกๆ 6 เดือน สำหรับน้ำมันเครื่องรุ่นปกติ และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกๆ 1 ปี สำหรับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์  สภาพการใช้งานที่อาจส่งผลให้ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเร็วขึ้น เช่น การวิ่งบนเส้นทางที่ขรุขระเต็มไปด้วยฝุ่น การวิ่งในเส้นทางที่การจราจรติดขัด รถที่ใช้งานหนักมากกว่าปกติ รถที่บรรทุกของหนักอยู่เสมอ และรถที่วิ่งในสภาพชื้นแฉะฝ่าฝนเป็นต้น 

ชนิดของน้ำมันเครื่องก็ส่งผลโดยตรงต่อระยะการเปลี่ยนถ่าย สำหรับรถที่ใช้งานเป็นประจำในสภาพปกติ หากใช้น้ำมันเครื่องธรรมดาควรเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 5,000km. หากใช้น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ควรเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 7,500km. หากใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะ100% ควรเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 10,000km. เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับชนิดของน้ำมันเครื่องอย่างละเอียดในบทความตอนถัดไป เลือกน้ำมันเครื่องอย่างไรดี ตอนที่2

Visitors: 67,427