เลือกน้ำมันเครื่องอย่างไรดี ตอนที่2

พอขับรถเข้าศูนย์เพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทีไร ก็ต้องจ่ายเงินหลักพัน โดยไม่แน่ใจว่าน้ำมันเครื่องที่ช่างแนะนำให้ใช้ มีคุณภาพคุ้มกับราคาหรือไม่ เรามีโอกาสเลือกน้ำมันที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาที่ประหยัดกว่าหรือไม่ สิ่งที่เขียนบนฉลากน้ำมันเครื่องมีความหมายอย่างไร คำถามเหล่านี้คาใจผู้ใช้งานหลายท่าน แต่ช่างก็ไม่มีเวลาอธิบาย

บทความนี้จะช่วยให้ความกระจ่าง เกี่ยวกับการเลือกใช้งานน้ำมันเครื่อง ให้คุ้มค่ากับราคาที่เราจ่าย เพราะการอ่านฉลากข้างแกลลอนน้ำมันเครื่องให้เข้าใจ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถของผู้ใช้ ในบทความ เลือกน้ำมันเครื่องอย่างไรดี ตอนที่1 เราได้อธิบายเกี่ยวกับ ประเภทของเครื่องยนต์ ชั้นคุณภาพตามมาตรฐาน API และ ระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องไปแล้ว ในตอนนี้จะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณาความหนืดของน้ำมันเครื่อง และชนิดของน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน

ความหนืด หรือ ความข้นใส ของน้ำมันเครื่อง มีส่วนสำคัญในการป้องกันการสึกหรอของเครื่องยนต์ หากน้ำมันเครื่องมีความหนืดน้อยเกินไป จะไม่สามารถคงสภาพเป็นฟิล์มบางๆ แทรกระหว่างผิวโลหะเพื่อลดแรงเสียดทาน ในทางตรงกันข้ามถ้ามีความหนืดมากเกินไป ก็ไม่สามารถถูกสูบฉีดไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง ความหนืดของน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมกับรถแต่ละคัน จะระบุอยู่ในคู่มือผู้ใช้รถ

การระบุความหนืดของน้ำมันเครื่อง นิยมใช้มาตรฐาน SAE (Society of Automotive Engineering) เช่น SAE 10, 15, 20, 30, 40, 50 ตัวเลขน้อยจะใสกว่า ตัวเลขมากจะข้นหนืดกว่า ความหนืดที่ไม่มีตัวอักษรต่อท้ายเป็นความหนืดที่เหมาะสำหรับใช้งานในอุณหภูมิปกติ หากเป็นน้ำมันเครื่องที่ใช้ในเขตเมืองหนาว จะมีอักษร W (Winter) ต่อท้าย เช่น 5W, 10W, 20W นิยมใช้ในฤดูหนาวหรือเขตที่มีอากาศเย็น

น้ำมันเครื่องที่มีการระบุตัวเลขความหนืดเพียงเบอร์เดียว เช่น SAE 10W หรือ SAE 50 เรียกว่า "น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว"แต่ในปัจจุบันนี้ผู้ใช้นิยมใช้ "น้ำมันเครื่องเกรดรวม" กันมากขึ้น การระบุตัวเลขความหนืดของน้ำมันเครื่องเกรดรวมจะระบุ 2 เบอร์ เช่น SAE 10W-50 แปลว่า สามารถใช้แทนน้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยวเบอร์ 10W, 20W, 20, 30, 40, 50 ได้ด้วย เนื่องจากน้ำมันเครื่องเกรดรวมเติมสารบางอย่างที่ช่วยให้ อุณหภูมิมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความความหนืดน้อยกว่าน้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว แม้อากาศในช่วงเช้าของฤดูหนาวจะค่อนข้างเย็นกว่าตอนกลางวัน เครื่องยนต์ก็ยังสตาร์ทติดง่าย

น้ำมันเครื่องเกิดจาก น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน + สารเพิ่มคุณภาพ 

ดังนั้น ชนิดของน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพ และระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เราแบ่งชนิดของน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานได้ดังนี้ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจากน้ำมันแร่ (Mineral Base Oil) และ น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจากน้ำมันสังเคราะห์ (Synthetic Base Oil)

 

  • น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจากน้ำมันแร่ ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมจากหอกลั่น เป็นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่มีราคาถูก แต่มีคุณภาพต่ำกว่า เมื่อเทียบกับน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานสังเคราะห์
     
  • น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจากน้ำมันสังเคราะห์ ได้จากการสังเคราะห์ขึ้นด้วยกระบวนการทางเคมี มีราคาแพงกว่า แต่สามารถปรับปรุงให้ได้คุณสมบัติพิเศษเหมาะกับงานหล่อลื่นเฉพาะประเภท เมื่อนำมาผลิตเป็นน้ำมันหล่อลื่นจึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับราคาแล้วมีความคุ้มค่า เพราะผู้ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อย 

น้ำมันหล่อลื่นที่ระบุบนฉลากว่าเป็น "น้ำมันกึ่งสังเคราะห์" แปลว่า ใช้น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานจากทั้งสองประเภทผสมกัน จึงมีราคา คุณภาพ และระยะเวลาที่แนะนำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง อยู่กึ่งกลางระหว่างสองประเภทแรก เช่น น้ำมันหล่อลื่นจากน้ำมันแร่ มีระยะเปลี่ยนถ่าย 5,000-7,000 กิโลเมตร น้ำมันสังเคราะห์ มีระยะเปลี่ยนถ่าย 10,000 - 13,000 กิโลเมตร น้ำมันกึ่งสังเคราะห์ มีระยะเปลี่ยนถ่าย 7,500 - 10,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพการใช้งานจริง และยี่ห้อของน้ำมันเครื่องที่เลือกใช้

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านก็มีความเข้าใจในการเลือกใช้น้ำมันเครื่องเพิ่มมากขึ้นแล้ว จึงขอยกตัวอย่างจากฉลากน้ำมันเครื่องจริงมาร่วมกันพิจารณาเพื่อเพิ่มความมั่นใจ สมมติว่ารถของเราใช้น้ำมันเบนซิน และจะพิจารณาเลือกระหว่าง 

SUN'SOIL SUNTECH R-1 FULLY SYNTHETIC API:SN SAE:5W-30

กับ

SUN'SOIL TURBO SYN TECH SEMI-SYNTHETIC API:SM/CF SAE:10W-40

เมื่อเห็นดังนี้เราจะทราบทันทีว่า R-1 เป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ 100% (ระยะเปลี่ยนถ่าย 10,000 - 13,000 กิโลเมตร) ใช้สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน เพราะ API ขึ้นต้นด้วยตัว S (ถ้าเหมาะกับเครื่องยนต์ดีเซลจะขึ้นต้นด้วย C) และมีคุณภาพสูงระดับ SN เป็นน้ำมันเครื่องเกรดรวม 5W-30 ซึ่งแม้ว่าจะมีสภาพอากาศยามเช้าค่อนข้างเย็น ก็ยังมีความใสพอที่จะถูกสูบฉีดไปหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ได้ดี ช่วยให้เครื่องสตาร์ทติดง่าย

ส่วนน้ำมันเครื่อง Turbo Syn Tech เป็นน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (ระยะเปลี่ยนถ่าย 7,500 - 10,000 กิโลเมตร) เหมาะกับเครื่องยนต์เบนซินที่ต้องการคุณภาพระดับ SM และสามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่ต้องการคุณภาพระดับ CF ได้ด้วย เพราะ API ระบุไว้เป็น SM/CF เป็นน้ำมันเครื่องเกรดรวมเช่นกัน 10W-40 เมื่อเทียบกับ R-1 5W-30 ตัวนี้จะมีความหนืดมากกว่า เพราะเบอร์ 40 หนืดกว่าเบอร์ 30

เมื่อเทียบระหว่างน้ำมันเครื่องทั้งสองรุ่น สำหรับรถเบนซิน น้ำมันเครื่อง R-1 คุณภาพ SN จะสูงกว่า SM และมีระยะเวลาใช้งานที่ยาวนานกว่าจะเปลี่ยนถ่ายแต่ละครั้ง การพิจารณาในส่วนของความหนืดนั้น รถรุ่นใหม่มักใช้น้ำมันเบอร์ 5W-30 เพราะเครื่องยังฟิตดี แต่รถที่ใช้งานมาเกินกว่า 7 ปี มักต้องการฟิล์มน้ำมันที่หนาขึ้น เพราะเครื่องยนต์มีการสึกหรอไปบ้าง จึงนิยมใช้น้ำมันเบอร์ 10W-40

เนื้อหาในบทความนี้เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ใช้รถ การเลือกใช้งานน้ำมันเครื่องควรพิจารณาคู่มือผู้ใช้รถ และคำแนะนำของช่างที่ดูแลรถเป็นประจำประกอบการตัดสินใจด้วย อย่างน้อยในตอนนี้ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในราคาหลักพัน เราก็ทราบแล้วว่าควรสอบถามอะไรกับผู้ให้บริการบ้าง

  • น้ำมันเครื่องที่จะเปลี่ยนถ่ายยี่ห้ออะไร? เชื่อถือได้หรือไม่?
  • น้ำมันเครื่องนี้เป็น น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ หรือน้ำมันพื้นฐานธรรมดา?
  • น้ำมันเครื่องที่แนะนำให้ใช้นี้มีคุณภาพ API ระดับใด?
  • จะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุกๆ กี่กิโลเมตร?
  • ความหนืด SAE ตรงกับที่ระบุในคู่มือผู้ใช้รถหรือไม่?


Visitors: 67,684